ตับเต่า ๒

Tridynamia bialata (Kerr) Staples

ชื่ออื่น ๆ
ลดาดาว (ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงรูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวถึงสีขาวอมเหลืองอ่อน รูปกรวย ผลแบบผลแห้งไม่แตกแบบผลกระเปาะ รูปกรวยแกมทรงรูปไข่ กลีบเลี้ยงติดทน ขยายใหญ่ และค่อนข้างแข็ง เกลี้ยง โคนกลีบหุ้มรอบผลแน่น ตรงกลางคอด ส่วนปลายผายออก เมล็ดสีน้ำตาลแดงถึงสีดำ มี ๑ เมล็ด เรียบ เกลี้ยง

ตับเต่าชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เถายาว ๒-๒๐ ม. เมื่ออ่อนมีขนละเอียด แก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงรูปหัวใจ กว้าง ๔.๕-๗.๘ ซม. ยาว ๕.๕-๑๐.๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ค่อนข้างแข็ง ด้านบนมีขนยาวประปรายถึงค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกำมะหยี่ เส้นโคนใบ ๕-๖ เส้น เส้นแขนงใบเรียงสลับข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบยาว ๑.๔-๔.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกตั้งขึ้น ใบประดับที่โคนช่อดอกคล้ายใบ รูปไข่ถึงรูปใบหอก ยาว ๒.๔-๓.๕ ซม. ใบประดับอื่น ๆ รูปลิ่มแกมรูปใบหอก ยาว ๑-๓ มม. ก้านดอกยาว ๔-๘ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบถึงรูปเส้นด้าย ยาว ๓-๔ มม. ติดทน ดอกสีขาวถึงสีขาวอมเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนแบบควินคันเชียลในดอกตูม ยาวไม่เท่ากัน เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๒ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๓-๔ มม. มีขนละเอียด กลีบวงใน ๓ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวไม่เกิน ๑ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก เห็นไม่ชัด ขอบค่อนข้างเรียบ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๐.๗-๑.๑ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มตามแนวแถบกลางกลีบ ด้านในเกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านในมีสีเหลืองเข้มกว่าด้านนอก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูไม่เท่ากัน ยาว ๓-๖ มม. ติดที่โคนหลอดกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีขนประปรายหรือเกลี้ยง อับเรณูรูปหัวลูกศร ติดไหวได้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลมแกมทรงรูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้าย เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตกแบบผลกระเปาะ รูปกรวยแกมทรงรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน ผิวบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน ขยายใหญ่ และค่อนข้างแข็ง เกลี้ยงมีเส้นตามยาวจากโคนกลีบ ๗-๑๑ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง โคนกลีบหุ้มรอบผลแน่น ตรงกลางคอด ส่วนปลายผายออก เมล็ดสีน้ำตาลแดงถึงสีดำ ยาว ๔-๕ มม. เรียบ เกลี้ยง มี ๑ เมล็ด

 ตับเต่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบแล้งและป่าละเมาะ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับเต่า ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tridynamia bialata (Kerr) Staples
ชื่อสกุล
Tridynamia
คำระบุชนิด
bialata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George
- Staples, George William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George (1877-1942)
- Staples, George William (1953-)
ชื่ออื่น ๆ
ลดาดาว (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา